เสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมือง) เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของการก่อตั้งชุมชนและเมือง สำหรับจังหวัดเชียงรายจะเรียกเสาหลักเมืองว่าเสาสะดือเมือง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อครั้งการสร้างเมืองครั้งแรกใช้คำว่า “เสาสะดือเมือง” ไม่ใช้คำว่าเสาหลักเมืองเสาสะดือเมืองเชียงรายแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา หรือ 5 รอบ และเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญามังรายมหาราช ผู้ทรงสร้างเมืองเชียงรายเนื่องในวโรกาสการเฉลิมฉลองการสร้างเมืองเชียงรายครบ 725 ปี โดยนายอร่าม เอี่ยมอรุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นได้เป็นแม่งานร่วมกับหน่วยงานราชการ เช่น สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชน และรัฐบาลเยอรมัน

ลักษณะของเสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างขึ้นโดยยึดตามรูปแบบเสาใจกลางบ้านของชาวไทลื้อซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งปกติเสาใจกลางบ้านของชาวไทลื้อจะสร้างด้วยไม้ แต่เสาสะดือเมืองเชียงรายเป็นเสาหิน ซึ่งสร้างจากหินชั้นดีจากจังหวัดตาก ทั้งนี้เพื่อความคงทนถาวร

บริเวณที่ตั้งเสาสะดือเมืองแห่งนี้เรียกว่าดอยจอมทอง ซึ่งตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าพญามังรายได้เสด็จมาหาตามช้างของพระองค์ซึ่งหนีเตลิดมา เมื่อพระองค์ได้ทรงพบว่าสถานที่แห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสมในการสร้างบ้านเมือง จึงโปรดให้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น

เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างในรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกสุดเป็นคูน้ำเหมือนในจักรวาล ลานดินถัดจากคูน้ำหมายถึงแผ่นดิน ลานด้านในยกเป็นชั้นๆ จำนวน 6 ชั้น เปรียบเสมือนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ในกามภูมิ ประกอบด้วยชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรตี และปรนิมมิตสวัตตี ตามลำดับ

โดยแต่ละชั้นจะมีร่องน้ำคั่นกลาง เหมือนปัญจมหานที ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ ไหลลดหลั่นกันลงสู่พื้นดิน ชั้นในสุดยกเป็น 3 ชั้น หมายถึงรูปภูมิ อรูปภูมิ และนิพพาน

ตัวเสาสะดือเมืองตั้งโดดเด่นดั่งเขาพระสุเมรุอยู่บนฐานสามเหลี่ยมยกพื้นสูง ซึ่งเปรียบเสมือนตรีกูฏบรรพต หรือผา 3 เส้า มีเสาบริวารล้อมรอบจำนวน 108 ต้น โดยตัวเสาสะดือเมืองมีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณที่จะต้องสร้างเสาสะดือเมืองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ และมีความสูงเท่ากับส่วนสูงของพระวรกายของพระมหากษัตริย์

 

วัดพระธาตุดอยจอมทอง

วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุดอยทอง (หรือวัดพระธาตุดอยตอง ตามสำเนียงคนเชียงราย) เป็นหนึ่งในพระธาตุ 9 จอม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ และถือเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งใน เก้าจอม” ของสถานที่อันเป็นมงคลนามของจังหวัดเชียงราย วัดพระธาตุดอยจอมทองนี้ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนที่พญามังรายมหาราชจะเสด็จมาพบพื้นที่บริเวณนี้ และโปรดให้สร้างเมืองเชียงรายในปี พ.ศ. 1805 โดยตามประวัติที่มีการกล่าวถึงวัดพระธาตุดอยจอมทองระบุว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาเรือนแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ (บริเวณอำเภอเวียงชัยปัจจุบัน) นี พ.ศ. 1483 ในการสร้างวัดครั้งนั้น ได้มีการสร้างองค์พระเจดีย์ประธานของวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหาเถระชาวลังกาได้นำมาถวายแด่พญาพังคราชแห่งเมืองโยนกนาคพันธุ์ ซึ่งพญาพังคราชได้โปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 3 ส่วน และนำไปประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเจดีย์ที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ได้แก่ พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุดอยจอมทองแห่งนี้  พระเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุดอยจอมทอง มีลักษณะเป็นเจดีย์ล้านนาพุกาม องค์ประกอบของเจดีย์ส่วนฐานมีลักษณะเป็นฐานปัทม์หกเหลี่ยมยกสูง องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นชั้นบัวถลารับองค์ระฆัง ส่วนยอดประกอบด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด และมีฉัตรอยู่ชั้นบนสุด องค์เจดีย์หุ้มด้วยทองจังโกฎิ เหมือนกับพระเจดีย์อื่นๆในภาคเหนือ ทำให้เกิดความสวยงามและยังสามารถป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ และป้องกันการเกิดวัชพืชบนองค์เจดีย์ด้วย

ขอบคุณข้อมูล : แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย